หอการค้านำทีมภาคเอกชนภูเก็ต ยื่นหนังสือวอนรัฐบาลแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวทรุด เหตุจากเชื้อไวรัสโควิด-19

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30 น. นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ,นายสรายุทธ มัลลัม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และนายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ เป็นตัวแทนภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต เข้าพบ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว เพื่อยื่นหนังสือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จ.ภูเก็ต และภาคเอกชน จ.ภูเก็ต ในช่วงวิกฤตการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอย่างเร่งด่วน โดยมีการเข้าร่วมประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว เพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดังกล่าว ณ ห้องประชุมหมายเลข 413 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา

นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า สถานการณ์โรคปอดอักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และระบาดไปในหลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในขณะเดียวกันจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนร่วม 4 ล้านคนหายไปจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งในทางธุรกิจการระบาดของไวรัสนั้น อาจส่งผลให้การเงินภายในประเทศจีนเกิดการชะงักไปอีกหลายเดือน และอาจจะใช้เวลาจนถึงช่วงปลายปี 2563 ในการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ อีกกว่า 10 ล้านคน เมื่อได้รับข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าวก็เกิดความเกรงกลัวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต จึงมีการยกเลิกเที่ยวบินและห้องพักเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบกับรายได้ของหลายวงการอาชีพในจังหวัดภูเก็ต อาทิ โรงแรม ที่พัก บริษัทนำเที่ยว รถโดยสาร เรือนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และรวมไปถึงพนักงาน ลูกจ้างในกิจการที่เกี่ยวข้องด้วย

และที่ผ่านมา ทางภาครัฐและเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวจากผู้ประกอบการและประชาชนในจังหวัดภูเก็ต จึงได้พยายามหาทางออกและผลักดันแนวทางแก้ปัญหา โดยได้ดำเนินการแล้ว อาทิเช่น

1. ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อนุมัติงบประมาณในการซื้อเครื่องอินฟาเรดมือถือ 36เครื่อง เพื่อใช้สกรีนผู้โดยสารกลุ่มเสี่ยง ที่จุดคัดกรองสนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ต

2. ทีมแพทย์จากสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และบุคลากรจากกองทัพเรือภาคที่3 ช่วยอำนวยความสะดวกใช้เทอร์โมอินฟาเรด ตรวจคัดกรองโรคของผู้โดยสารจากเรือสำราญที่ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต และที่ท่าเรือสำราญหาดป่าตอง

3. ขนส่งจังหวัดภูเก็ต ได้นำเครื่องพ่นละอองฝอยฆ่าเชื้อโรค Airofog พ่นในรถโดยสารที่ใช้ขนถ่ายผู้โดยสารจากอาคารระหว่างประเทศในสนามบิน และสอนวิธีการทำความสะอาดรถแบบกำจัดเชื้อ

4. สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตร่วมกับองค์กรเอกชน สนับสนุนล่ามจีน เพื่อสื่อสารระหว่างกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จำเป็นต้องถูกคัดกรองเพื่อตรวจเชื้อและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต

5. ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวจีน ได้ร่วมซื้อเครื่อง Thermo scanบริจาคให้สาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตั้งเพิ่มเติมที่สนามบินจังหวัดภูเก็ต

6. ผู้ประกอบการโรงแรมพร้อมใจกันทำความสะอาดโรงแรมให้มากยิ่งขึ้น โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อตามห้องพัก และตามที่สาธารณะในโรงแรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ยังกล่าวต่ออีกว่า ภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัด ภูเก็ต พังงา และกระบี่ พร้อมสนับสนุนภาครัฐ ในทุกๆภารกิจ และรวมถึงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางมาท่องเที่ยว แต่ทว่าผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมครั้งนี้ใหญ่หลวงมาก ในการจะรักษาธุรกิจให้คงอยู่ และรักษาอัตราการจ้างงานของธุรกิจ จึงอยากขอให้รัฐบาลพิจารณาในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกภาคส่วนอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

  1. ขอให้ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้มีการพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ออกไปอย่างน้อย  12 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่า หากเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด ขอพิจารณาให้ขยายระยะเวลาได้อีกครั้งละ 3 เดือน จำนวนไม่เกิน 6 ครั้ง และให้ธนาคารงดเก็บค่าธรรมเนียมในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องทุกชนิด
  2. ขอให้ธนาคารให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1%
  3. ขอผ่อนผันการยื่นชำระภาษีเงินได้ประเภทบุคคลธรรมดาและประเภทนิติบุคคลปี 2562 ออกไป 1 ปี
  4. ขอยกเว้นการจ่ายเงินสมทบที่เกี่ยวกับลูกจ้างของปี 2563 อันประกอบด้วย
  5. เงินนำส่งประกันสังคม
  6. เงินนำส่งกองทุนทดแทนประกันสังคม
  7. เงินนำส่งกองทุนผู้พิการ
  8. เงินนำส่งกองทุนอื่นๆ
  9. ขอลดอัตราภาษี ดังต่อไปนี้ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีบำรุงท้องถิ่น
  10. ขอปรับลดอัตราการผ่อนผันชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อของบริษัทและบุคคลลงไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  11. ขอจัดให้มีการฝึกอบรมของพนักงานในภาคส่วนท่องเที่ยว โดยให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าแรงของพนักงานที่เข้าร่วมฝึกอบรมนั้นๆแทนเอกชนในอัตราค่าแรงขั้นต่ำ
  12. ขอให้ยกเว้นเงื่อนไขของการติดเครดิตบูโรชั่วคราวในช่วงของวิกฤตการณ์ดังกล่าว  จนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ในด้านการประชาสัมพันธ์ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทาง ขอให้ทางรัฐบาล โดยเฉพาะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนเรื่องไวรัสโควิด-19 แต่เพียงผู้เดียว ออกมาแถลงข่าวยืนยันถึงสถานการณ์ของแต่ละเมืองท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งชี้แจงมาตรการในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสอย่างละเอียดให้ทั่วโลกได้รับทราบ และยืนยัน “เมืองภูเก็ตปลอดภัย” และขอให้รัฐบาลมีการวางแผนผลิตสื่อ และช่องทางการสื่อสาร ที่มุ่งเป้าสัมฤทธิ์ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ คือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังคงเดินทางท่องเที่ยว เช่น ไทย อินเดีย รัสเซีย ออสเตรเลีย กลุ่มประเทศยุโรป  กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่ม South East Asia ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าหากมีการสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้ จะเป็นการช่วยพยุงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวได้

          การดำเนินการภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ การจัดสรรงบประมาณแบบปกติจะไม่เพียงพอและไม่ทันการ จึงใคร่ขอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณฉุกเฉินพิเศษให้แก่จังหวัดภูเก็ต ในการจัดซื้อจักจ้างเพิ่มกำลังคน ซื้ออุปกรณ์ และสิ่งอำนวยการสะดวก รวมถึงการผลิตสื่อเพื่อใช้ในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวในจังหวัดที่ยังคงมีอยู่ และขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้จังหวัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสามารถใช้เงินสะสมคงเหลือที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเก็บเอาไว้เพื่อดำเนินการป้องกัน ช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทา ผู้ได้รับผลกระทบ โดยจังหวัดภูเก็ต มีเป้าหมายที่จะขอใช้เงินดังกล่าวในการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ซื้อเครื่อง Thermo Scan เพิ่มอีก 4 เครื่อง ซึ่งปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีเครื่อง Thermo Scan  ติดตั้งอยู่แล้ว 2 เครื่องที่อาคารผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จึงต้องการขอติดตั้งเพิ่มเติมที่อาคารผู้โดยสารขาเข้าและขาออก ในประเทศ 1 เครื่อง ระหว่างประเทศ 1 เครื่อง และติดตั้งที่ท่าเรือน้ำลึกอ่าวมะขาม  1 เครื่อง และที่ท่าเรือสำราญป่าตองอีก 1 เครื่อง รวมทั้งหมดเป็น           6 เครื่อง

2. อุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด (Big Cleaning) เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยว

3. ใช้งบประมาณในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการรับรองความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

4. ใช้งบประมาณการศึกษาและโปรโมทจังหวัดภูเก็ตโดยใช้บริษัทมืออาชีพด้านการตลาด เพื่อฟื้นฟู และสร้างความยั่งยืนให้กับจังหวัด

5. อื่นๆ ตามความจำเป็นในการจัดการผลกระทบจากไวรัส โควิส-19

          นอกจากนี้ ควรสนับสนุนนโยบาย “โครงการไทยช่วยไทยใน 10 เดือน” เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวชาวไทยเข้ามาเที่ยวในช่วงวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยดำเนินการ ดังนี้

1. ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันของสายการบินซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และขอให้ลดภาษีในการใช้สนามบิน และหามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อกำหนดให้ตั๋วเครื่องบิน ภูเก็ต-กรุงเทพฯ อยู่ที่ราคาไม่เกิน 799 บาท ต่อเที่ยว

2. สนับสนุนเงิน ที่จะเป็นส่วนลด 30% สำหรับ ค่าที่พัก-ค่าอาหาร-ค่าเดินทางในจังหวัดท่องเที่ยว โดยใช้ระบบเดียวกับชิมช้อปใช้           ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ได้ทิ้งท้ายถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนอง และสตูล ได้รับผลกระทบกับการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก และนานวันจะยิ่งทวีคูณปัญหายิ่งขึ้นไปอีก ทางภาคเอกชนขอให้รัฐบาลช่วยเหลือจังหวัดในกลุ่มอันดามันอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกๆ ธุรกิจ พนักงาน ลูกจ้าง และประชาชนในจังหวัด ได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ด้วยดี

เลือกภาษา