ประวัติหอการค้าจังหวัดภูเก็ต
…ณ จุดเริ่มต้น…
ของการก่อตั้งหอการค้าจังหวัดภูเก็ต
ในรัฐบาลสมัย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการตราพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 ขึ้น และประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา เพื่อจัดในการตั้งหอการค้าไทยขึ้นสำหรับทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคเอกชนด้านธุรกิจการค้า ต่อมารัฐบาล ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีนโยบายให้ดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งหอการค้าในทุกจังหวัด โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับดำเนินงาน และอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นนายทะเบียนกลางหอการค้า ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นนายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัด โดยให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้รายงานความคืบหน้าทุกระยะ
สำหรับจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการเร่งรัดให้ดำเนินการจัดตั้งหอการค้า ดังนั้นเมื่อประมาณปี 2522 ซึ่งในขณะนั้นมี “นายเสน่ห์ วัฒนาทร” ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจัดการประชุมในวันที่ 25 ก.ค. 2522 โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักธุรกิจและพ่อค้าในจังหวัดรู้จักคำว่า “หอการค้าจังหวัดมีหน้าที่บทบาทอย่างไร และ กรอ. จังหวัด คืออะไร” ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นมีคณะกรรมการจากหอการค้าไทยร่วมกับคณะกรรมการของกองสถาบันการค้า กรมการค้าภายในเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมี “นายปรีชา ตันประเสริฐ” รองประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยเป็นผู้นำคณะ
หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ตได้ประสานงานกับนายเจียร วานิช นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดภูเก็ต นายพูนเพิ่ม สุวัณณาคาร นายกสมาคมพ่อค้าจังหวัดภูเก็ต และนายสุรินทร์ สุดเดือน กรรมการเลขานุการสมาคมพ่อค้าจังหวัดภูเก็ต ให้สมาคมดำเนินการจัดตั้งหอการค้า ในเบื้องต้นสมาคมพ่อค้าได้ลงมติให้จัดตั้งหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และให้ยุบสมาคมพ่อค้ามาอยู่ในหอการค้า ส่วนกรรมการก่อตั้งทั้งหมดก็ให้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นหอการค้าจังหวัด
กระทั่งได้มีการประชุมอีกครั้งเมื่อ 31 ม.ค. 2523 โดยมีมติให้ดำเนินการจัดตั้งหอการค้าจังหวัดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. ในขณะนั้นสำนักงานสมาคมพ่อค้าจังหวัดภูเก็ตได้ย้ายจากบริเวณตลาดสดไปสำนักงานชั่วคราวที่บริเวณถนนดีบุก(ร้านระย้าในปัจจุบัน) รวมถึงมีมติตามที่ประชุมประจำเดือนครั้งที่ 6/2523 เมื่อ 31 ม.ค. 2523 เป็นเอกฉันท์ว่าสมควรจัดตั้งหอการค้าจังหวัดภูเก็ตขึ้นแทนสมาคมพ่อค้าจังหวัดภูเก็ต และมอบหมายให้คณะกรรมการ 9 คน เป็นตัวแทนผู้ริเริ่มการจัดตั้ง ดำเนินการขออนุญาตจดทะเบียนเมื่อ อังคารที่ 11 มี.ค. 2523 ดังรายชื่อต่อไปนี้
1.นายพูนเพิ่ม | สุวรรณาคาร | ||
2. นายติลก | ถาวรว่องวงศ์ | ||
3. นายวีระพงษ์ | หงษ์หยก | ||
4. นายปรีดารมย์ | โกมุทผล | ||
5. นายสุรินทร์ | สุดเดือน | ||
6. นายสู่ | ออวัฒนา | ||
7. นายวิชัย | จู่ภิบาล | ||
8. นายสุจินต์ | แสงศรีรัตนกุล | ||
9. นายสนิท | ตัณฑเวส |
หลังจากการยื่นขอจัดตั้งในครั้งแรก ผลปรากฏว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย อาทิ กรรมการหลายท่านมีคุณสมบัติไม่ผ่านตามข้อกำหนด และตราสมาคาหอการค้าก็ได้ใช้ตราสมาคมพ่อค้าฯ แต่เปลี่ยนชื่อเป็น PCC (THE PHUKET CHAMBER OF COMMERCE) รวมถึงความไม่ชัดเจนของที่อยู่สำนักงานหอการค้า เป็นต้น ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีผลให้ต้องระงับการขอจดทะเบียนทั้งหมด
จากความไม่พร้อมในหลาย ๆ ประการนี้เอง ทางกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอแนวทางแก้ไข โดยติดต่อไปยังผู้เริ่มก่อตั้งหอการค้าจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้แก้ไขข้อบังคับให้เหมาะสมและรัดกุมยิ่งขึ้นก่อนออกใบอนุญาตจำนวน 2ข้อ คือ
- ยกเลิกข้อความข้อ 25 ให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน “การรับรายงานของคณะกรรมการหอการค้า
เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แต่ละครั้งในกรณีครบวาระ หรือคณะกรรมการชุดเดียวกันลาออกทั้งคณะในคณะกรรมการหอการค้าชุดใหม่ ยื่นจดทะเบียนเป็นกรรมการหอการค้าต่อนายทะเบียนหอการค้าจังหวัดภูเก็ตภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง และให้เข้ารับมอบงานจากคณะกรรมการชุดเดิมของหอการค้าภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนเป็นกรรมการ หากว่ายังไม่มีการยื่นขอจดทะเบียนชุดใหม่ตามข้อกำหนดให้ถือว่าเป็นกรรมการชุดเดิมยังคงอยู่เดิม”
- ข้อ 30 เปลี่ยนจากข้อความเดิมภายในเดือนเมษายนของทุกปี และไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่มีการ
สิ้นปีการบัญชีหอการค้า เป็นภายในเดือนเมษายนของทุกปี คำว่า “และ” เปลี่ยนเป็น “หรือ” ไม่เกิน 120 วันนับตั้งแต่วันที่มีการสิ้นปีการบัญชีหอการค้า
ส่วนข้อบังคับอื่นๆ ไม่ปรากฏข้อบกพร่องแต่ประการใด ถึงกระนั้นก็ตามทางสมาคมพ่อค้าก็ยังมิได้ดำเนินการใดใดปล่อยเรื่องค้างไว้กระทั่งปลายปี 2525 กระทั่งถึงสมัยที่คุณจิรทีปต์ เอกเพิ่มทรัพย์ (ชื่อเดิม นายถาวร ตันติศิริไพบูลย์) เป็นนายกสมาคมพ่อค้าภูเก็ต ทางจังหวัดก็ได้ขอร้องให้มีการดำเนินการจัดตั้งหอการค้าอีกครั้ง ครั้งนี้การจัดตั้งสำเร็จโดยสมบูรณ์เมื่อ 17 พ.ย. 2526 โดยข้อบังคับทั้ง 2 ข้อได้รับการแก้ไขให้เป็นไปตามที่กรมการค้าภายในกำหนด และได้จัดให้มีการประชุมสามัญใหญ่ประจำปีครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่19 มี.ค. 2527 โดยมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดที่ 1 จำนวน 21 ท่าน และมี “นายจิรทีปต์ เอกเพิ่มทรัพย์” ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต
แต่หลังจากการก่อตั้งเสร็จสิ้นไปแล้วนั้นทางหอการค้าจังหวัดภูเก็ตมิได้ดำเนินกิจการใดใด มีเพียงการเข้าร่วมประชุม กรอ. อย่างเดียว และกรรมการก็ไม่ได้มีเอกสารส่งกระทรวงพาณิชย์เลย ทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ว่าคณะกรรมการบริหารยังไม่เข้าใจในบทบาทของหอการค้า เพราะส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสมาคมพ่อค้า ประกอบกับคุณถาวรขอลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2531 โดยให้เหตุผลความจำเป็นทางธุรกิจส่วนตัวหลายประการ นอกจากนี้กรรมการบางท่านก็ได้ถึงแก่กรรม จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความไม่พร้อมในหลายๆ ด้านของภาคเอกชนนี้เอง ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจึงได้เสนอแนวทางการแก้ไขกลับไปอีกครั้ง โดยเสนอแนะให้สมควรติดต่อพ่อค้า นักธุรกิจที่มีความพร้อมเป็นประธานหอการค้า ได้แก่
1. นายเอกพจน์ | วานิช |
2. นายอาทร | ต้องวัฒนา |
3. นายวิจิตร | ณ ระนอง |
4. นายสมเกียรติ | งานทวี |
5. นายติลก | ถาวรว่องวงศ์ |
6. นายสุจินต์ | อุดมทรัพย์ |
7. นายสุนทร | จิรพัฒนโสภณ |
8. นายไพบูลย์ | อุปัติศฤงค์ |
9. ร.ท. ภูมิศักดิ์ | หงษ์หยก |
นอกจากนี้ยังได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่ปรึกษาเป็นการส่วนตัว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต และเพื่อให้การจัด กรอ. จังหวัดเป็นไปตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย
จากแนวทางแก้ไขทั้ง 2 ประการนี้เอง จึงนำไปสู่การเรียกประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2531 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้เชิญนักธุรกิจ พ่อค้า และบุคคลที่มีความตั้งใจในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต จำนวน 49ท่าน และนี่เองที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการก่อกำเนิดหอการค้ายุคใหม่ของจังหวัดภูเก็ต